ปัจจุบันวัดเชตวันมหาวิหารเหลือเพียงซากโบราณสถาน ได้รับการบูรณะจากทางราชการอินเดียเป็นอย่างดี ตั้งอยู่ทางใต้ของแม่น้ำราปติ (Rapti) หรือแม่น้ำอจิรวดีในสมัยพุทธกาล นอกกำแพงเมืองสาวัตถีไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร ที่ ตำบลสะเหต (Saheth) รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
เดิมวัดเชตวันเป็นพระราชอุทยานสำหรับเสด็จประพาสของเจ้าเชต เจ้าชายในราชวงศ์โกศลแห่งเมืองสาวัตถี เป็นพระราชอุทยานร่มรื่นนอกตัวเมืองหลวง มีเนื้อที่ 80 ไร่
วัดเชตวันมหาวิหารมีอีกชื่อหนึ่งปรากฏในพระสูตรว่า "วัดพระเชตวัน อารามของบิณฑิกเศรษฐี" ที่เรียกเช่นนี้เพื่อให้ทราบว่าวัดนี้เป็นวัดที่อนาถบิณฑิกะสร้างถวายแต่ใช้ชื่อวัดของเจ้าของที่เดิม เพราะวัดแห่งนี้เดิมเป็นที่ของเจ้าเชต เศรษฐีเจ้าที่ดินในสมัยนั้น ซึ่งอนาถบิณฑิกะซื้อต่อมาด้วยราคาที่แพงมหาศาลถึง 18 โกฏิ (เจ้าเชตกำหนดให้นำเหรียญทองมาปูเต็มพื้นที่ ๆ ต้องการซื้อ) และซ้ำยังต้องใช้ชื่อวัดเป็นชื่อของเจ้าเชตอีกด้วย จึงทำให้วัดนี้ได้นามตามเจ้าของเดิม ในขณะที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีเจ้าของที่ผู้สร้างวัดถวายไม่สามารถใส่ชื่อของตนไปในนามวัดได้ โดยวัดแห่งนี้อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้สร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ สิ้นเงินไปอีก 36 โกฏิ จึงทำให้การสร้างวัดแห่งนี้มีราคาถึง 54 โกฏิ
พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับจำพรรษาและบำเพ็ญพุทธกิจที่วัดแห่งนี้รวมถึง 19 พรรษา นับว่าเป็นวัดที่พระพุทธองค์ประทับจำพรรษานานที่สุด เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่สัปปายะต่อการเผยแพร่พระพุทธศาสนา เพราะเมืองสาวัตถีในสมัยนั้นเป็นเมืองที่มั่งคั่ง สงบ และมีการอุปถัมภ์บำรุงเป็นอย่างดีจากพระเจ้าปเสนทิโกศล อนาถบิณฑิกเศรษฐี และประชาชนทั้งหลาย
วัดแห่งนี้เป็นสถานที่เกิดเรื่องราวและพระสูตรสำคัญ ๆ ในพระพุทธศาสนามากมายเช่น เรื่องของพระองคุลิมาล, นางปฏาจาราเถรี, พระนางกิสาโคตมีเถรี, การถวายอสทิสทาน, เรื่องพระพุทธองค์ทรงดูแลภิกษุไข้, พราหมณ์จูเฬกสาฏก, ทรงพยากรณ์สุบินนิมิต 16 ประการ, นางกาลียักษิณี, นางจิญมาณวิกา ถูกแผ่นดินสูบ, พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ เป็นต้น ในส่วนพระสูตรนั้นมีจำนวนมาก ที่สำคัญ ๆ เช่น มหามงคลสูตร, ธชัคคสูตร, ทสธัมมสูตร, สาราณียธรรมสูตร, อหิราชสูตร, เมตตานสังสสูตร, คิริมานนทสูตร, ธัมมนิยามสูตร, อปัณณกสูตร, อนุตตริยสูตร, พลสูตร, มัคควิภังคสูตร, โลกธัมมสูตร, ทสนารถกรณธัมมสูตร, อัคคัปปทานสูตร, ปธานสูตร, อินทริยสูตร, อนริยสูตร และสัปปุริสธัมมสูตร โดยทั้งหมดทรงแสดง ณ วัดเชตะวันแห่งนี้
หลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน วัดเชตวันได้รับการดูแลมาตลอด โดยเฉพาะมูลคันธกุฎีที่มีพระสงฆ์เฝ้าดูแลทำการปัดกวาดเช็ดถูปูลาดอาสนะและปฏิบัติต่อสถานที่ ๆ พระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่ทุก ๆ แห่ง เหมือนสมัยที่พระพุทธองค์ทรงพระชนม์ชีพอยู่มิได้ขาด โดยมีการปฏิบัติเช่นนี้ติดต่อกันจวบจนเมืองสาวัตถีตกไปอยู่ในอำนาจของแคว้นมคธและเสื่อมความสำคัญลงจนถูกเมืองสาวัตถีและวัดแห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างไปหลังยุคกุษาณะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 จากเมืองหลวงแห่งแคว้นเป็นชนบทเล็ก ๆ ที่ห่างไกล และสิ่งก่อสร้างถูกทิ้งกลายสภาพเป็นเนินดิน และชื่อของสาวัตถีได้ถูกลืมไปจากอินเดีย (กลายเป็นเพียงสาเหต-มาเหต โดยสาเหตเป็นที่ตั้งของซากวัดเชตวัน และมาเหตเป็นที่ตั้งของเมืองสาวัตถี)
จนมีการขุดค้นพบพุทธสถานและซากเมืองในช่วงหลัง ทำให้ปัจจุบันซากวัดแห่งนี้ได้รับการขุดค้นปรับแต่งเป็นอย่างดี ซึ่งต่างจากตัวเมืองสาวัตถีที่ไม่มีการบูรณะขุดค้นเท่าใดนัก จึงทำให้ปัจจุบันมีผู้มาจาริกแสวงบุญ ณ วัดเชตวันเป็นประจำ ปัจจุบันชาวบ้านแถบนี้เริ่มหันหลับมาเรียกตำบลแห่งนี้ว่าศราวัสตี (ภาษาสันสกฤต) เหมือนในสมัยก่อนบ้างแล้ว
สถานที่สำคัญ ๆ ที่พุทธศาสนิกชนในปัจจุบันนิยมไปนมัสการคือ พระมูลคันธกุฎี ที่ได้ทำการขุดค้นปรับแต่งเป็นอย่างดี, อานันทโพธิ์ ต้นโพธิ์ที่ปลูกโดยพระอานนท์ในสมัยพุทธกาล ต้นโพธิ์ต้นนี้ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์และยังคงเป็นยืนต้นมาจนปัจจุบัน, หมู่กุฏิพระมหาเถระ, บ่อน้ำสรงสนานของพระพุทธองค์ เป็นต้น