สถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งของอินเดียที่กำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวสายผจญภัย ก็คือ "เมืองเลห์" แห่งแคว้น "ลาดักห์" ภาพของขุนเขาสีน้ำตาลอ่อนที่ถูกปกคลุมบนยอดไปด้วยหิมะสีขาว ส่องสะท้อนลงสู่ผืนน้ำสีฟ้าครามใต้ท้องฟ้ากว้างใหญ่ เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของเมืองในหุบเขาแห่งนี้ ซึ่งนักท่องเที่ยวหลาย ๆ ท่านที่มีโอกาสไปสัมผัสที่นี่ต่างก็บอกว่าควรค่าแก่การไปเยือนสักครั้งในชีวิต บางคนถึงกับบอกว่าต้องไปให้ได้สักครั้งก่อนตาย วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับที่นี่ให้มากขึ้น เลห์ ลาดักห์ อยู่ที่ไหน มีอะไรดี เที่ยวง่าย หรือยาก...ตามไปดูกัน
เลห์ ลาดักห์ อยู่ที่ไหน
ลาดักห์ (Ladakh) เป็นแคว้นหนึ่งในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ (Jammu and Kashmir) ซึ่งเป็นรัฐที่อยู่เหนือสุดของประเทศอินเดีย ใกล้กับชายแดนประเทศจีน มีพื้นที่มากกว่า 86,909 ตารางกิโลเมตร มีเมืองใหญ่ที่สุดก็คือ เมืองเลห์ (Leh) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว เพียบพร้อมไปด้วยสนามบิน ที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร และบริษัทนำเที่ยว
Land of High Passes
แคว้นลาดักห์ ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 3,000 เมตร มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ซึ่งทอดตัวยาวมาจากเทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงเทือกเขาคุนหลุน ซึ่งรวมไปถึงด้านบนสุดของลุ่มแม่น้ำสินธุด้วย การเข้าสู่แคว้นแห่งนี้นอกจากจะสามารถมาได้โดยเครื่องบินแล้ว ก็ยังสามารถนั่งรถเข้ามาถึงได้ เพราะมีถนนเชื่อมต่อมาถึงเมืองเลห์ ทำให้ถนนในแคว้นนี้กลายเป็นหนึ่งในถนนที่อยู่สูงที่สุดในโลก
ถนนหลักที่มีชื่อเสียงก็คือ Khardung La Pass เป็นถนนที่มีทัศนียภาพสวยงามจับตา นักเดินทางทั่วโลกต่างภาวนาให้ได้มาเยี่ยมเยือนที่นี่กันสักครั้งเลยล่ะ และเหตุนี้เองทำให้เมืองนี้มีชื่อว่า ลาดักห์ (Ladakh) ในภาษาทิเบต มีความหมายว่า Land of High Passes นั่นเอง
อดีตดินแดนแห่งสมรภูมิ
จากที่ตั้งของแคว้นลาดักห์ เราจะเห็นได้ว่าที่นี่อยู่ติดกับชายแดนของประเทศอินเดีย ซึ่งมีเขตติดต่อระหว่างประเทศจีนและประเทศปากีสถาน ในช่วงสมัยที่เส้นทางสายไหมกำลังรุ่งเรือง เมืองลาดักห์เป็นเมืองการค้าที่สำคัญในแถบนี้ เพราะเป็นเมืองที่เชื่อมต่อกับ 3 ประเทศนี้ ตอนแรกอาณาจักรลาดักห์ถูกปกครองโดยอาณาจักรทิเบต ต่อมาพออาณาจักรทิเบตเริ่มอ่อนอำนาจ แคชเมียร์ก็ผนวกลาดักห์เข้ามาอยู่ในการปกครอง ซึ่งแคชเมียร์ก็เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นเมื่อจีนเข้ายึดครองทิเบตได้สำเร็จ ก็จะตามมาเอาลาดักห์ เนื่องจากเป็นเขตที่เคยถูกปกครองโดยทิเบต จึงทำให้เกิดความขัดแย้ง และตามมาด้วยการต่อสู้กันหลายครั้ง จนอินเดียต้องสูญเสียพื้นที่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เรียกว่า Aksai Chin ไปให้กับจีน ส่วนทางด้านเมือง Turtuk ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนปากีสถาน ก็มีการแย่งชิงเขตแดนกันอยู่เรื่อย ๆ กลายเป็นสงครามย่อยที่มีผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ฉายาทิเบตน้อย
ถึงแม้ว่าลาดักห์จะตั้งอยู่ในเขตการปกครองของอินเดีย แต่กลับปรากฏศิลปวัฒนธรรมและสภาพบ้านเมืองในแบบทิเบต นั่นก็เป็นเพราะว่าดั้งเดิมนั้น เมืองลาดักห์เคยอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรทิเบตมาก่อน ซึ่งอาณาจักรทิเบตก็ให้ความสำคัญกับพุทธศาสนามหายาน เราจึงได้เห็นวัดวาอารามแบบทิเบต พระราชวังลาดักห์ก็มีสถาปัตยกรรมแบบทิเบต จึงทำให้ที่นี่กลายเป็นทิเบตน้อยแห่งอินเดียนั่นเอง
เมืองสวยที่ทำผู้มาเยือนแทบหยุดหายใจ
นักท่องเที่ยวที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนแคว้นลาดักห์และเมืองเลห์ ต่างก็ตกหลุมรักในความงดงามของดินแดนแห่งนี้ เพราะโดยรอบของเมืองนั้นเต็มไปด้วยภูเขาสูงใหญ่ เมื่อเทียบกับมนุษย์แล้วก็กลายเป็นเพียงผงฝุ่นไปเลยทีเดียว และภูเขาเหล่านี้ก็ยังจะมีหิมะปกคลุมอยู่เกือบตลอดทั้งปี สวยงามในแบบที่ไม่มีที่ไหนในโลกเหมือน และหากได้ขึ้นไปมองเมืองลาดักห์บนที่สูง ก็จะเห็นว่าเป็นเมืองแบบทิเบตน้อย ๆ ที่หลบซ่อนอยู่ในหุบเขาอย่างแท้จริง รอบ ๆ เมืองก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสวย ๆ อีกมากมาย มีทะเลสาบกว้างใหญ่งดงามตระการตา ไม่ว่าใครได้มาเห็นรับรองได้เลยว่าชั่วขณะหนึ่งก็ต้องแทบจะหยุดหายใจ
และแน่นอนว่าเมืองแห่งนี้อยู่ในพื้นที่ที่สูงมาก ออกซิเจนจะน้อยกว่าปกติ หากร่างกายไม่แข็งแรงพอ หรือป่วยขณะเดินทางก็อาจจะทำให้ไม่สามารถต้านทานกับโรคที่เกี่ยวกับ Altitude Sickness ได้ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจจะทำให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิตได้เลยเช่นกัน
ที่ตั้งของทะเลสาบที่สูงที่สุดในโลก
ใกล้กับเมืองลาดักห์ จะมีทะเลสาบอยู่หลายแห่ง แต่ละแห่งก็จะมีความสวยงามแตกต่างกันออกไป ทะเลสาบที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เช่น Tso Moriri Lake และ Pangong Lake โดยทะเลสาบทั้งสองแห่งนี้จะมีทัศนียภาพที่งดงาม อลังการไปด้วยฉากหลักของภูเขาหิมาลัยสูงใหญ่ น้ำในทะเลสาบก็จะเป็นสีฟ้าเทอร์ควอยซ์ใสแจ๋ว มีพื้นที่กว้างใหญ่มาก
โดยที่ทะเลสาบ Tso Moriri จะมีพื้นที่ทั้งหมดราว ๆ 120 ตารางกิโลเมตร สูงจากระดับน้ำทะเลมากถึง 4,522 เมตร ในขณะที่ Pangong Lake มีพื้นที่ทั้งหมดราว ๆ 699.3 ตารางกิโลเมตร และอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากถึง 4,350 เมตร และจากสถิติความสูงของทะเลสาบ ทำให้เมืองแห่งนี้กลายเป็นที่ตั้งของทะเลสาบที่อยู่สูงที่สุดในโลก ทั้งนี้นักท่องเที่ยวสามารถพักค้างคืนริมทะเลสาบได้ มีที่พักรับรองอยู่ไม่ไกล บางแห่งก็สามารถนอนกางเต็นท์ได้เลยล่ะ
เส้นทางเทรกกิ้งที่ทรหดที่สุดแห่งของโลก
เมืองลาดักห์ เป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีธรรมชาติงดงาม สมบูรณ์ อาจจะไม่ได้เป็นป่ารกทึบ ภูเขาสีเขียวอย่างบ้านเรา แต่ก็มีเส้นทางเดินขึ้นเขาให้พิชิตกันหลากหลายเส้นทาง ซึ่งแต่ละเส้นทางก็มีความสวยงามแตกต่างกันไป บางเส้นทางอาจจะผ่านหมู่บ้าน หุบเขา ลำธาร แม่น้ำ แต่ในทุก ๆ เส้นทางได้ชื่อว่าทรหดสุด ๆ เพราะมันคือการเดินเทรกกิ้งบนพื้นที่สูง จะทำให้เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ถ้าร่างกายไม่พร้อมจริง ๆ ก็ยากที่จะพิชิตแต่ละเส้นทางได้
สถานที่ท่องเที่ยวในเลห์ ลาดักห์
ในเมืองเลห์ และรอบแคว้นลาดักห์ มีสถานที่ท่องเที่ยวสวย ๆ มากมาย ซึ่งสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยม 15 สถานที่ท่องเที่ยวเลห์ ลาดักห์ ห้ามพลาด
เที่ยวเลห์ ลาดักห์ ช่วงไหนดี
เมืองลาดักห์ ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงมาก จึงทำให้มีฤดูหนาวที่ยาวนานมากกว่า 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม โดยเดือนที่หนาวที่สุดจะอยู่ระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ในช่วงนี้เส้นทางจะถูกปกคลุมไปด้วยหิมะ อากาศติดลบตลอด บางช่วงติดลบมากกว่า -20 องศา ร้านค้า ร้านอาหาร และที่พักจะปิดทำการ จึงไม่เหมาะแก่การท่องเที่ยว ช่วงเวลาที่น่าไปเที่ยวเลห์ และลาดักห์ จึงควรเป็นช่วงระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน
เกร็ดท่องเที่ยวเลห์ ลาดักห์
- นักท่องเที่ยวชาวไทย จะต้องขอวีซ่าท่องเที่ยวอินเดีย ก่อนการเดินทาง
- การเดินทางจากไทยไม่มีเที่ยวบินตรงไปยังเมืองเลห์ จะต้องนั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปลงที่เมืองเดลี ประเทศอินเดีย ก่อน แล้วจึงต่อเครื่องบินไปยังเมืองเลห์
- การเดินทางในเมืองเลห์ และแคว้นลาดักห์ หากนักท่องเที่ยวไปเที่ยวเองจะนิยมใช้บริการแท็กซี่ บางท่านก็เลือกที่จะเช่ารถมอเตอร์ไซค์ขี่เที่ยว แต่แนะนำให้ใช้บริการไกด์ท้องถิ่นจะสะดวกและปลอดภัยกว่า
- ผู้คนในเมืองเลห์ และแคว้นลาดักห์น่ารัก ซื่อตรง เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว
- ประชากรมากกว่า 60% ของแคว้นลาดักห์เป็นมุสลิม ควรศึกษาเรื่องข้อปฏิบัติทางศาสนาด้วย
- ที่พักในแคว้นลาดักห์ และเมืองเลห์มีหลากหลายแบบ หลากหลายราคา ตั้งแต่เกสต์เฮ้าส์ไปจนถึงบูทีคโฮเทล
- ร้านอาหารส่วนใหญ่ก็เป็นร้านอาหารพื้นเมือง มีเมนูแบบสากลบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ผักและซุปร้อน ๆ
- สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตที่แคว้นลาดักห์ จะใช้ได้เพียงไม่กี่เครือข่ายของอินเดีย แนะนำให้ซื้อซิมโทรศัพท์ที่นั่น หรือเปิดโรมมิ่งของเครือข่ายที่ใช้อยู่ในไทย เพราะจะสามารถสลับการเชื่อมต่อเครือข่ายของอินเดียได้ในกรณีที่เราเปลี่ยนเมือง
- ค่าครองชีพในเมืองเลห์ไม่สูงมากนัก ค่าที่พักก็เริ่มต้นที่ราคาหลักร้อย แต่ควรแลกเงินไปให้พร้อม เพราะจะหาตู้เอทีเอ็มยาก
- ห้องน้ำสาธารณะต่าง ๆ ไม่สะอาดเท่าไร บางแห่งยังคงเป็นส้วมหลุมแบบธรรมชาติมาก ๆ ควรเตรียมทิชชูเปียก และทิชชูธรรมดาไปให้พร้อม
- อากาศที่แคว้นลาดักห์ จะหนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงรอยต่อกับฤดูหนาว จึงควรเตรียมเสื้อผ้าให้พร้อม
- ปลั๊กไฟในเมืองเลห์จะเป็นแบบขากลม 3 ขา แนะนำให้พก Universal Travel Adapter ไปด้วย
- เตรียมยาประจำตัว รวมทั้งยาสามัญต่าง ๆ ให้พร้อม
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
****Altitude Sickness อาการและการป้องกัน***
บทความนี้จะขอกล่าวในรายละเอียดของภาวะ Altitude sickness สักเล็กน้อยเพื่อความเข้าใจในในการป้องกัน และการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการของโรคขึ้น ถ้าใครยังไม่ได้อ่านบทความก่อน
อาการของ High Altitude Sickness
เป็นการกล่าวถึงกลุ่มโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ในภาวะที่มีออกซิเจนน้อย ซึ่งประกอบด้วย 3 โรคหลักๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์และมีความต่อเนื่องกันอยู่ในบางส่วน คือ
1 Acute Mountain Sickness (AMS) ยังไม่มีชื่อภาษาไทยครับ เป็นโรคที่มีความรุนแรงไม่มาก เกิดเมื่อมีการเดินทางขึ้นไปที่สูง โดยทั่วไปต้องมากกว่า 2500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งจะมีอาการปวดศีรษะ มึนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการเด่นของภาวะนี้ อาการอื่นๆที่พบได้บ่อยคือ นอนไม่หลับ เหนื่อย หายใจเร็ว โดยอาการต่างๆเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากขึ้นไปที่สูงประมาณ 4-10 ชั่วโมง ที่พบบ่อยคือเกิดขึ้นในคืนแรกที่ขึ้นไปที่สูง โดยทั่วไปอาการจะไม่รุนแรงมาก และร่างกายจะค่อยๆปรับตัวได้เองภายใน 1-2 วัน
2 High Altitude Cerebral Edema (HACE) หรือภาวะสมองบวมจากการอยู่ในพื้นที่สูง เป็นภาวะที่เกิดต่อเนื่องจากภาวะ AMS โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ เห็นภาพซ้อน ถ้ามีอาการรุนแรงมากจะมีชัก หมดสติ จนถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้นถ้ามีอาการดังกล่าวต้องรีบพบแพทย์ และเดินทางลงสู่ในพื้นที่ต่ำกว่าทันที
3 High Altitude Pulmonary Edema (HAPE) คือภาวะปอดบวมน้ำจากการอยู่ในพื้นที่สูง เป็นภาวะที่รุนแรงซึ่งอาจเกิดขึ้นเดี่ยวๆ หรือเกิดขึ้นร่วมกับภาวะ HACE ก็ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก อยู่เฉยๆ ก็เหนื่อย ภาวะนี้ทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นถ้าเกิดภาวะดังกล่าวขึ้น ต้องรีบพบแพทย์และเดินทางลงสู่พื้นที่ต่ำกว่าทันที
หลักการทั่วไปในการป้องกันภาวะ Altitude Sickness
1. ต้องศึกษาข้อมูลถึงสถานที่ที่จะไปก่อนการเดินทางครับว่า สถานที่ที่จะไปอยู่ในพื้นที่สูงมากหรือไม่ เช่น ถ้าจะไปเที่ยวทิเบต ภูฏาน เนปาล เปรู โบลิเวีย ประเทศเหล่านี้มักมีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่สูงอยู่มาก ควรหาข้อมูลถึงระดับความสูง และดูแผนการเดินทางของเราเสมอ ว่าจะต้องผ่านในพื้นที่สูงมากหรือไม่ เช่น
ถ้าจะไปเที่ยวเนปาล ไปแค่เมืองหลวงกาฐมัณฑุ (1400 m) โปขระ (827 m) นาการ์ก็อต (2195 m) มักจะไม่มีปัญหาใดๆ เพราะอยู่ไม่อยู่มาก แต่ถ้าจะไป trekking ที่ Annapura circuit ที่ Poon Hill (3210m) หรือผ่าน Thorung La (5400m) ต้องเตรียมตัวอย่างดีครับ
การไปเที่ยวขึ้นยอดเขาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เช่น Pilatus (2132m) Titlis (3028m) หรือ Jungfrau (3571 m) มักจะไม่มีปัญหา high altitude sickness เนื่องจากเราจะนั่ง cable หรือรถไฟขึ้นไป และอยู่บนยอดเขาไม่นาน และลงมาสู่ที่ต่ำกว่าเวลาไม่กี่ชม. ร่างกายมักจะทนได้
ถ้าจะไปเที่ยวเปรู ไปมาชุปิชู (Machu Picchu) อย่างไรก็ต้องไปเมือง Cusco (3399 m) ซึ่งมักจะนั่งเครื่องบินไปจากเมืองลิมา (ระดับน้ำทะเล) นักท่องเที่ยวมักจะมีอาการ altitude sickness ในช่วง 1-2 วันแรกที่ Cusco เพราะร่างกายยังปรับตัวไม่ทัน แต่พอพ้นช่วงแรกแล้ว และไปเที่ยว มาชูปิชู (2430 m) มักจะไม่มีปัญหาใดๆ เพราะอยู่ที่ระดับความสูงต่ำกว่า Cusco อีก
ถ้าจะไปประเทศจีน บางเมืองจะอยู่ในที่สูง ต้องศึกษาก่อนเสมอ เช่นไป ลี่เจียง (2400 m) ภูเขามังหยก (3356 m) ทิเบต (3490m) ควรต้องเตรียมตัว
ถ้าจะไปเที่ยวเลห์ ลาดักห์ บริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตอินเดียตอนเหนือ เป็นพื้นที่สูง ตัวเมืองเลห์เองอยู่สูงประมาณ 3500 m เหนือระดับน้ำทะเล นอกจากนี้นักท่องเที่ยวมักจะไปเที่ยวที่ต่างๆด้วย ไม่ว่าจะเป็น Pungong lake (4350m) และต้องเดินทางผ่านช่องเขา Changla Pass (5360m) ควรจะต้องเตรียมตัวก่อนไปเที่ยวเสมอ
2. ร่างกายต้องการเวลาปรับตัว (Acclimatization)ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรเลือกแผนการเดินทางที่ไม่ขึ้นสู่ที่สูงเร็วเกินไป ควรพักที่เมืองที่อยู่ต่ำกว่า 1-2 วันเพื่อปรับตัว
3. ถ้าจำเป็นต้องเดินทางขึ้นสู่ที่สูงอย่างรวดเร็ว เช่น นั่งเครื่องบินจากลิมาไปคุซโก (3399 m) นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่ง (ประมาณ 20-25%) มักจะมีอาการ ดังนั้นในช่วงแรกๆที่ขึ้นไปที่สูง ควรงดการออกกำลัง เดิน หรือวิ่ง ควรพักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำบ่อยๆ และสังเกตอาการของตัวเองว่ามีความผิดปกติใดๆหรือไม่ ถ้ามีอาการของ AMS เพียงเล็กน้อย เช่นปวดศีรษะ คลื่นไส้ นอนไม่หลับ ร่างกายค่อยๆปรับตัวได้ และอาการจะหายไปเองใน 1-2 วันแต่ถ้ามีอาการรุนแรงมากขึ้น ควรพบแพทย์ และเดินทางสู่ที่ต่ำกว่าทันที
4. การใช้ยาเพื่อป้องกัน altitude sickness เช่น Acetazolamide (diamox) ในนักท่องเที่ยวบางรายมีความจำเป็น เพราะยาจะช่วยป้องกันและลดบรรเทาอาการได้ แต่การใช้ยาควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะแพทย์ต้องพิจารณาแผนการเดินทาง ข้อบ่งชี้ ข้อห้ามในการใช้ยา และแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้อง
5. ในนักท่องเที่ยวที่ปีนเขา หรือ Trekking ในที่สูง ต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำในพื้นที่อย่างเคร่งครัด ไม่ควรรีบเดินหรือทำเวลาก่อนเวลาที่แนะนำไว้โดยทั่วไป เช่นถ้าจะปีนยอดเขาคีรีมันจาโร (5895m) ควรมีการเตรียมทีม เตรียมอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ต่างๆที่จำเป็น และควรเดินทางตามที่กำหนดไว้ ไม่ควรจะรีบปีนโดยใช้เวลาน้อยกว่า 5 วัน เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะปีนไปไม่ถึง และเกิดการไม่สบายกลางทาง
6. ถ้ามีอาการแพ้ความสูงเกิดขึ้น ควรระมัดระวัง และสังเกตุอาการตนเองและเพื่อนร่วมทางเสมอ ถ้ามีอาการไม่มาก เช่น ปวดศีรษะ มึนศีรษะ อ่อนเพลีย ควรพัก ถ้าเป็นแค่ Acute mountain sickness ร่างกายจะค่อยๆปรับตัวได้เอง แต่ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น เหนื่อยมาก ไอ สับสน ปวดศีรษะ มึนงงมาก ต้องรีบลงสู่พื้นที่ที่ต่ำกว่า และหาสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
***************************************************