เมืองดารัมซาลา ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดกันกรา (Kangra) รัฐหิมาจัลประเทศ และแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน
ดารัมซาลา ตอนล่าง (Lower Dharamshala) ซึ่งเรียกกันว่า "ดารัมซาลา" เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ โรงพยาบาล ท่ารถขนส่ง ตลอดจนพื้นที่ค้าขายทั่วไป มีพลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดียท้องถิ่น และนอกจากนี้ก็ยังมี landmark
ดารัมซาลา ตอนบน (Upper Dharamshala) หรือรู้จักกันในนามของ 'แมคลอดกันจ์' ตั้งอยู่สูงกว่าเมืองทางตอนล่าง และเป็นศูนย์ลี้ภัยใหญ่ฯ และที่ทำการรัฐบาลพลัดถิ่นฯ (Central Tibetan Administration) รวมถึงเป็นสถานที่ประทับของ องค์ทะไลลามะ ผู้นำสูงสุดของชาวทิเบต
สภาพภูมิอากาศทั่วไป ด้วยความที่เมืองนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงมันจึงมีอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี หากเอาไปเปรียบกับมะนาลีและชิมลา เมืองนี้ค่อนข้างจะอุ่นกว่าและมักจะมีฝนตกชุกอยู่บ่อยครั้ง ส่วนในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิก็อาจลดต่ำลงจนถึงจุดเยือกแข็ง
‘ธรรมศาลา’ หลายคนอาจรู้จักกิติศัพท์ในฐานะเมืองทางตอนเหนือของอินเดียที่ชาวทิเบตลี้ภัยมาพึ่งพิง รวมถึงเป็นที่พำนักของทะไลลามะองค์ที่ 14 ที่ทรงลี้ภัยมาอยู่ที่ธรรมศาลายาวนานกว่า 60 ปี
ดังนั้น เป้าหมายส่วนใหญ่ของนักเดินทางทั่วโลกที่ดั้นด้นเดินทางมายังธรรมศาลา หรือ ดารัมซาล่า (Dharamshala) หนีไม่พ้นการได้มาซึบซัมวัฒนธรรมของชาวทิเบต ทั้งจากวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ทำมาค้าขายปะปนกับชาวอินเดีย รวมถึงบรรดาพระลามะห่มจีวรสีแดงเข้มที่ยังคงรักษาวัตรปฏิบัติแบบดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น
แต่นอกเหนือไปจากเสน่ห์ของความเป็นดินแดนทิเบตน้อย ธรรมศาลายังเป็นเมืองที่เหมาะกับคนรักการเดินป่าเดินเขา ด้วยทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่บนเทือกเขาธาเลาธาร (Dhalaudhar) ทำให้ธรรมศาลาเต็มไปด้วยเส้นทางเทรคกิ้งหลากหลาย มีตั้งแต่ง่ายไปยาก เดินวันเดียวจบหรือจะเดินข้ามเขานานเป็นอาทิตย์ก็เลือกได้ตามระดับความสามารถในการปีนป่ายเฉพาะบุคคล
ขอแนะนำ 3 เส้นทางเทรคกิ้งเดินสนุก ใช้เวลาบุกป่าฝ่าดงแบบวันเดียวจบก็ได้ หรือใครอยากชิลกว่านั้นก็กางเต็นท์ค้างแรมสักคืน การันตีว่าเป็นเส้นทางที่ไม่เกินความสามารถของคนจากที่ราบลุ่มแม่น้ำอย่างเราๆ
พิชิตยอดเขา ‘ตรีอุนด์’
โดยปกติแล้ว นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปธรรมศาลามักจะไม่พักที่ธรรมศาลาโดยตรง แต่จะจับรถจี๊ปขึ้นเขาไปอีก 10 กิโลเมตร เพื่อพำนักที่ Upper Dharamshala หรือในอีกชื่อเรียกที่คุ้นหูกว่าว่า แม็คลอดกันจ์ (McLeod Ganj) ซึ่งเต็มไปด้วยตัวเลือกของเกสต์เฮ้าส์ ร้านค้า และร้านอาหารต่างๆ มากมาย
และสำหรับใครที่อยากพักผ่อนแบบสงบใกล้ชิดธรรมชาติ แนะนำให้จับรถจี๊ป จ้างออโต้ หรือจะแบกเป้เดินขึ้นเขาไปอีก 3 กิโลเมตรด้วยตัวเองก็ยังได้ แล้วเลือกหย่อนกายพักใจในเกสต์เฮ้าส์ที่มีให้เลือกมากมายในดารัมกต (Dharamkot) แหล่งพักพิงที่เหมาะแก่การเป็นจุดสตาร์ทในการสำรวจธรรมชาติบนภูเขาลูกนั้นลูกนี้รอบๆ ธรรมศาลา
และหนึ่งในจุดหมายที่เหล่านักเดินทางเลือกตั้งเข็มทิศเพื่อเดินเท้าไปให้ถึง ก็คือ ยอดเขาตรีอุนด์ (Triund) ที่เป็นเหมือนกับเช็คพ้อยท์ว่า หากมาเยือนธรรมศาลาแล้วไม่ได้เดินขึ้นยอดตรีอุนด์เพื่อชมวิวหิมะลดเลี้ยวเคี้ยวคดพาดยาวไปตามแนวเทือกเขาธาเลาธาร ก็เหมือนมาไม่ถึง
การออกเดินเท้าไปยังยอดเขาตรีอุนด์ควรเริ่มแต่เช้า เพราะแม้จะไม่ใช่ยอดเขาที่ท้าทายความสามารถอะไรมากมาย โดยมีความสูงอยู่ที่ 2,827 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล (สูงกว่ายอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยอย่างดอยอินทนนท์ประมาณ 200 เมตร) แต่ภูเขาก็คือภูเขา การเดินไต่ระดับความสูงผ่านทิวแถวของต้นโรโดเดนดรอน (Rhododendron) ที่ออกดอกสีชมพูสลับแดงขึ้นไปเรื่อยๆ แม้จะงดงาม แต่ก็ย่อมต้องอาศัยระยะหยุดพักหอบหายใจอยู่หลายพัก จึงต้องใช้เวลาเดินอย่างน้อย 4 ชั่วโมงจากดารัมกตถึงยอดตรีอุนด์ ดังนั้น จึงควรเผื่อเวลาสำหรับเดินชิลถ่ายรูปบนยอดเขา และเวลาที่จะต้องเดินลงจากเขาอีกอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
ข้อดีของการเทรคกิ้งบนเส้นทางยอดนิยมคือ จะมีคาเฟ่ไว้คอยให้บริการเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวกระจายกำลังไว้เป็นระยะๆ ระหว่างทาง ซึ่งแม้จะได้ชื่อว่าคาเฟ่ แต่ก็มีลักษณะเป็นเพิงเล็กๆ พร้อมเสิร์ฟมาซาลาจัย (ชาร้อนใส่เครื่องเทศ) ในแก้วกระดาษ น้ำมะนาวโซดา หรือแม็กกี้ (มาม่าอินเดีย) ต้มเสิร์ฟแบบง่ายๆ พอให้อิ่มท้องแล้วมีแรงก้าวขึ้นเขาต่อ
เมื่อเดินขึ้นมาจนถึงยอดตรีอุนด์แล้ว ใครอยากค้างแรมเพื่อนอนดูดาวสักคืน บนยอดเขาตรีอุนด์ก็มีที่พักไว้บริการไม่ว่าจะเป็นเต็นท์หรือเกสต์เฮ้าส์ขนาดย่อม ก่อนจะเดินลงจากเขาตอนเช้าแบบสบายๆ ไม่เร่งร้อน
สำหรับการเตรียมตัวในการเดินเขาที่ธรรมศาลา ไม่ว่าจะรูทสั้นหรือยาว ควรมีทั้งอุปกรณ์กันแดดกันหนาว รวมถึงกันฝนให้พร้อมสรรพ เพราะอากาศบนภูเขาหนาวเย็นตลอดทั้งปี และองศาแดดก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน
ไม่ไกลจากแม็คลอดกันจ์มีจุดท่องเที่ยวยอดนิยมอย่าง ทะเลสาบดาล (Dal lake) ที่ไกด์บุ๊กทุกเจ้าแนะนำให้ไป แต่เราอยากเสนอให้เขยิบห่างออกไปไกลจากธรรมศาลาอีกสักหน่อย เพื่อสัมผัสกับประสบการณ์เทรคกิ้งสู่ทะเลสาบคาเรริ (Kareri lake) ที่ทอดตัวอย่างสงบนิ่งบนยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะตลอดทั้งปี รอให้แขกผู้มาเยือนเดินทางไปทักทายความงามของธรรมชาติที่เหนือชั้นยิ่งกว่า
เพราะไม่ว่าจะมาเยือนหิมาจัลประเทศในฤดูไหน ยอดเขาสีขาวโพลนก็พร้อมที่จะต้อนรับอาคันตุกะด้วยทิวทัศน์ตระการตาแบบนี้เสมอมา