นครสีฟ้า เมืองสีฟ้า โชติปุระ จ๊อดปูร์

Jodhpur จ๊อดปูร์ นครสีฟ้า ตรึงตรา ตรึงใจ

ภาพอาคารบ้านเรือนที่ถูกทาด้วยสีฟ้าไล่เฉด ราวกับคลื่นทะเลยามต้องแสงแดดของ จ๊อดปูร์ (Jodhpur), นครสีฟ้า (The Blue City) หรืออีกชื่อในภาษาไทยว่า โยธะปุระ เมืองใหญ่อันดับ 2 แห่งรัฐราชาสถาน ประเทศอินเดียนั้น ได้กลายเป็นภาพจำของนครโบราณแห่งนี้ เมืองที่ล้นไปด้วยสเน่ห์ทางสายตาและวัฒนธรรม ฟ้าจัดจ้านจนดึงดูดนักเดินทางจากทั่วโลกให้หลงใหลมาเยือนนักต่อนัก ฟ้าสดใสทั่วเมืองขนาดนี้ สงสัยกันไหมคะว่า ทำไมต้องเป็นสีฟ้า? เป็นเพราะเค้าชอบสีฟ้ากันทั้งเมือง? ชาวเมืองได้ประโยชน์อะไรจากสีฟ้า? แน่นอนว่าเค้าต้องมีสาเหตุ

สีฟ้า.. มีหลายที่มา

มีหลายทฤษฎีที่ผู้คนสันนิษฐานถึงความฟ้าของนครแห่งนี้ ร่ายมาแต่เรื่องของความเชื่อ, ชนชั้นวรรณะ, สภาพอากาศ ไปจนถึงเรื่องของการไล่แมลง! แค่สีฟ้าสีเดียว..ทำไมเผื่อแผ่เกี่ยวข้องกับเค้าสารพัดขนาดนี้? ด้วยความสงสัย จึงรวบรวมแนวคิดที่เป็นไปได้ไว้ที่นี่

แนวคิดแรก : เมื่อสี.. เชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์

เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในนครจ๊อดปูร์ นับถือศาสนาฮินดู ส่งผลให้วิถีชีวิตของผู้คนในเมืองนี้ ได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่พวกเขายึดมั่นศรัทธาตามไปด้วย ชาวฮินดูเชื่อว่าสีฟ้าเป็นสีแห่งมหาเทพ โดยเฉพาะพระศิวะ หากอิงตามตำนาน ‘กวนเกษียรสมุทร’ ที่จัดว่าเป็น big event รวบรวมเหล่าเซเลปทั่วทั้งจักรวาลตามฮินดูคติไว้อย่างคับคั่งสุดๆ เพราะการกวนเกษียรสมุทรนั้น เป็นพิธีกรรมสำคัญ ที่ต้องใช้กำลังทั้งจากฝ่ายเทวดาและฝ่ายอสูรเป็นจำนวนมาก แถมใช้เวลาประกอบพิธียาวนานนับพันๆ ปี ในพิธีนี้พระศิวะมีบทบาทสำคัญ โดยอาสาดื่มพิษร้ายจากพญาวาสุกรีนาคราชไว้เอง ซึ่งพิษมีฤทธิ์ร้ายแรงขนาดทำลายล้าง 3 โลกได้ ความรุนแรงของพิษนี้ได้แผดเผาพระศอ (คอ) ของพระศิวะ จนลายเป็นสีฟ้าเข้ม บ้างก็ว่าเป็นน้ำเงินเข้มเหลือบดำ เหล่าเทวดา อสูร และมนุษย์โลกทั้งหลาย จึงสรรเสริญพระศิวะมหาเทพ ว่าเป็นผู้เสียสละรับความทรมาณจากพิษร้ายแทนสรรพสิ่งทั้งมวล ด้วยเหตุนี้เหล่าสาวกและพราหมณ์ จึงเปรียบสีฟ้า เป็นสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ และการเสียสละอันยิ่งใหญ่ ซึ่งการทำให้ที่พักอาศัยของตนเป็นสีฟ้านั้น อาจเปรียบเหมือนการแสดงออกในด้านความเชื่อ และการแสดงความเคารพต่อสิ่งที่ตนศรัทธา

แนวคิดที่ 2 : เมื่อสี.. บ่งบอกสถานะทางสังคม

จ๊อดปุระ เมืองโบราณแห่งแคว้นราชาสถาน มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ ค.ศ. 1459 ซึ่งหากมองกลับย้อนไปในยุคที่เริ่มสร้างนครเเละยังถูกปกครองด้วยระบบกษัตริย์ แต่ละราชสำนักจะต้องมี ปุโรหิต หรือ พราหมณ์ เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยกษัตริย์ได้ยกพื้นที่ตอนเหนือของเมือง ให้เป็นที่อยู่ของเหล่าพราหมณ์ และได้เรียกย่านที่อาศัยนั้นว่า พราหมณ์บุรี (Brahmpuri) ต่อมาเมื่อเมืองมีความเจริญมากขึ้น จำนวนประชากรย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงเกิดการกระจายถิ่นฐานออกไปเรื่อยๆ เเละในที่สุดชาวบ้านวรรณะอื่นก็ได้ขยับขยาย จนมาถึงย่านพราหมณ์บุรีแห่งนี้ เนื่องจากสังคมอินเดียโบราณ เป็นสังคมที่ระบบชนชั้นวรรณะยังเข้มข้นอยู่มาก ตามความเชื่อของศาสนาฮินดูนั้น พราหมณ์ คือ วรรณะที่ 1 นับเป็นชนชั้นสูงสุด (จากทั้งหมด 4 วรรณะ ได้แก่ 1.พราหมณ์, 2.กษัตริย์, 3.แพศย์ = พ่อค้าและเกษตรกร, 4.ศูทร = ทาสและกรรมกร) ที่วรรณะอื่นต้องให้ความเคารพ ด้วยเหตุนี้เหล่าพราหมณ์แห่งนครจ๊อดปูร์ จึงจำเป็นต้องขีดไฮไลท์แสดงตนและแบ่งแยกสถานะให้ชัดเจน จากชาวบ้านวรรณะอื่น โดยพร้อมใจกันทาบ้านให้เป็นสีฟ้า และเนื่องจากสีฟ้าเป็นสีศักดิ์สิทธิ์แห่งเทพเจ้า เมื่อพราหมณ์คือผู้ศรัทธารับใช้ทวยเทพเจ้า สีฟ้าจึงนับเป็นสีของวรรณะพราหมณ์ไปด้วยโดยปริยาย


แนวคิดที่ 3 : เมื่อสี.. สะท้อนภูมิปัญญาโบราณ

ว่ากันว่าสีฟ้าช่วยไล่ปลวกและแมลงวัน ไม่ให้มาก่อกวนพวกเขาได้!? เพราะปลวกและแมลงทั้งหลาย คือศัตรูตัวร้ายทำลายโครงสร้างบ้านเรือน และอาคารประวัติศาสตร์หลายแห่งในจ๊อดปูร์ เเถมยังเป็นพาหะของเชื้อโรคด้วย เพื่อรักษาทรัพย์สินเเละความเป็นอยู่ของพวกเขา ชาวเมืองจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้สีฟ้าทาบ้าน เพราะส่วนผสมหลักของสีนี้คือ คอปเปอร์ซัลเฟต (copper sulfate) และหินปูน

โดยเฉพาะคอปเปอร์ซัลเฟตนั้น ภาษาไทยเราเรียกอีกชื่อว่า จุนสี ถูกพบอย่างกว้างขวางในอารยธรรมโบราณ กระจายทั่วไปในสังคมเกษตรกรรม มีหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า เดิมชาวอียิปต์โบราณ ใช้คอปเปอร์ซัลเฟตเป็นสีย้อมผ้า ซึ่งชาวอินเดียก็เช่นกัน เเละยังคงใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน! ต่อมามีการนำสารตัวนี้ไปชุบเมล็ดข้าวสาลี เพื่อป้องกันเชื้อรา และนำไปเคลือบใช้รักษาเนื้อไม้ได้ คอปเปอร์ซัลเฟตจึงไม่เพียงเเต่ใช้ย้อมผ้าหรือทำสีทาบ้านเท่านั้น เเต่ยังมีคุณสมบัติกำจัดเชื้อรา เเบคทีเรีย ตะไคร่น้ำ เเละเเมลงศัตรูพืชต่างๆ อีกด้วย

นับเป็นภูมิปัญญาของชาวอินเดียโบราณ ที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งนอกจากเรื่องของความเชื่อแล้ว นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญ ที่ชาวจ๊อดปูร์พากันทาบ้านด้วยสีฟ้ามาตั้งแต่โบราณ จนกลายเป็นจุดเด่นของเมือง

แนวคิดที่ 4 : เมื่อสี.. ทำให้บ้านเย็น

ต่อเนื่องจากภูมิปัญญาในการผลิตสีฟ้า นอกจากส่วนผสมหลักอย่างคอปเปอร์ซัลเฟต จะช่วยไล่แมลงแล้ว หินปูน (limestone) ยังมีคุณสมบัติพิเศษช่วยสะท้อนความร้อนได้ดีอีกด้วย ซึ่งหากพิจารณาในด้านภูมิประเทศแล้ว แคว้นราชาสถานมีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บนทะเลทรายธาร์ (Thar Desert) ซึ่งเป็นทะเลทรายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดีย (Great Indian Desert)

กทั้งจ๊อดปูร์ก็ไม่ใช่นครใหญ่ไร้ความหมาย หากยังมีความสำคัญในฐานะ เมืองหน้าด่านทะเลทราย และด้วยตำเเหน่งเเห่งที่เหล่านี้ จ๊อดปูร์จึงมีสภาพอากาศแห้งแล้ง ร้อนจัด และบ่อยครั้งที่อุณหภูมิอาจพุ่งสูงถึง 50°C (เเละมีเเนวโน้มสูงขึ้นทุกปี แปรผันตามภาวะโลกร้อน) ดังนั้นการฉาบบ้านด้วยโทนสีฟ้า จึงมีส่วนช่วยสะท้อนเเดดเเละคลายความร้อนได้มากกว่าสีอื่นๆ

แค่เรื่องสีเรื่องเดียว ก็สามารถสะท้อนให้เห็นทั้งรากความเชื่อ วัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงภูมิปัญญาของชาวจ๊อดปูร์ที่มีมาแต่โบราณ แม้การทาบ้านด้วยสีฟ้าในระยะแรกๆ จะเห็นได้เฉพาะที่อยู่ของวรรณะพราหมณ์ แต่ด้วยความเป็นสีสารพัดประโยชน์ ทั้งช่วยไล่แมลง ทั้งทำให้บ้านเย็น และมีสีสีนสดใส จึงไม่แปลกใจที่สีฟ้าจะกลายเป็นสีป๊อปๆ จุดประกายให้ชาวเมืองต่างพากันทาบ้านด้วยสีฟ้า นานวันเข้าจึงกลายเป็นเอกลักษณ์ของนครจ๊อดปูร์ไปในที่สุด

โปรแกรมทัวร์
thepudomdham brand logo
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
© 2024 เทพอุดมธรรม ทราเวล
TAT LICENSE