1. พระมหาเจดีย์ชเวดากอง
เมื่อไปเที่ยวพม่า หากไม่ได้ไปสักการะพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ถือว่าไปไม่ถึง เพราะนี่คือ เจดีย์คู่บ้านคู่เมืองพม่า ที่มีอายุเก่าแก่มากว่าสองพันปี ตั้งอยู่เมืองย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าของพม่า มีทองหุ้มตัวเจดีย์ไว้ด้วยน้ำหนักกว่าพันตัน และยังเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าอีกด้วย ผู้คนส่วนใหญ่จะมาเพื่อสวดมนต์ตั้งจิตอธิษฐานต่อองค์พระเจดีย์ ชื่อว่าจะได้ผลสมปรารถนา และเรายังเห็นชาวพม่าร่วมแรงร่วมใจกันปัดกวาดเช็ดถูลานเจดีย์อีกด้วย
2. พระมหาธาตุเจดีย์ชเวมอดอ หรือ พระธาตุมุเตา
มุ่งสู่กรุงหงสาวดี เราจะได้พบกับ พระธาตุมุเตา หรือเจดีย์ชเวดมอดอ เป็นความงดงามตามแบบฉบับของมอญ ที่มีอายุยาวนานกว่าสองพันปี และยังเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดของพม่าอีกด้วย ภายในเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุ เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากก่อนออกศึกคราใด พระเจ้าบุเรงนองจะทรงมานมัสการที่นี่ก่อนทุกครั้ง เราจะเห็นมหาธาตุเดิมที่พังทลายจากแผ่นดินไหวอยู่ข้างๆ เจดีย์องค์ใหม่ จุดนี้ถือว่าเป็นจุดอธิษฐานที่ศักดิ์สิทธิ์
3. พระธาตุอินทร์แขวน หรือ ไจทีโย
พระธาตุอินทร์แขวน ก้อนหินทองแห่งศรัทธา เป็นหินก้อนใหญ่ที่ยื่นออกมานอกหน้าผา แต่ตั้งตระหง่านไม่ไหวเอน ราวกับพระอินทร์นำมาแขวนไว้ และบนก้อนหินยังจำลองเป็นพระเกศแก้วจุฬามณี พระธาตุประจำปีจอ ที่เชื่อกันว่า ผู้ใดได้นมัสการพระธาตุอินทร์แขวนครบ 3 ครั้ง จะมีแต่ความสุขความเจริญ และสมปรารถนาทุกประการ
4. มหาเจดีย์ชเวสิกอง
มหาเจดีย์ชเวสิกอง เมืองพุกาม ที่มีหมายความว่า "เจดีย์ทองแห่งชัยชนะ"ซึ่งสร้างโดยพระเจ้าอโนรธามังช่อ ผู้ที่รวบรวมชนชาติพม่าให้เป็นปึกแผ่น รวมถึงชาวมอญด้วย องค์เจดีย์จึงได้รับอิทธิพลมาจากมอญ ภายในเจดีย์ยังบรรจุพระธาตุสำคัญ 3 ส่วน คือ พระเขี้ยวแก้ว ที่กษัตริย์แห่งศรีลังกาได้นำมาถวาย พระธาตุกระดูกไหล่ ที่นำมาจากเมืองศรีเกษตร(ใกล้เมืองแปร) และพระธาตุพระนลาฏ (หน้าผาก) ซึ่งพระเขี้ยวแก้วที่อัญเชิญมาจากลังกานั้น ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าช้างเผือกคุกเข่าลงที่ใด จะสร้างเจดีย์ไว้ที่นั่น ซึ่งก็กลายเป็นสถานที่ตั้งมหาเจดีย์ชเวซิกองมาจนถึงทุกวันนี้
5. พระมหามัยมุนี
พระมหามัยมุนี แห่งเมืองมัณฑะเลย์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของพม่า ที่เชื่อว่าเป็นองค์พระพุทธรูปที่มีชีวิตซึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทานลมหายใจให้ เพื่อเป็นตัวแทนในการสืบทอดพระพุทธศาสนา ดังนั้นในทุกๆ เช้าจึงต้องมีพิธีล้างพระพักตร์ ด้วยน้ำอบน้ำหอมผสมทานาคาอย่างดี พร้อมกับแปรงพระโอษฐ์ แล้วใช้ผ้าจากศรัทธาที่ประชาชนนำมาถวาย มาเช็ดจนแห้งสนิท ซึ่งพิธีนึ้ก็ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน