หลวงพ่อพุทธเมตตา พุทธคยา

พุทธคยาสถานที่ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ราชคฤห์ นาลันทา

ทัวร์แสวงบุญ เส้นทางธรรมยาตรา ตามรอยบาทพระศาสดา สังเวชนียสถาน สถานที่ตรัสรู้ และ พุทธสถานสำคัญ ณ เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นทริปแบบกันเอง ไม่เหนื่อย พักวัดไทย สะดวกสบายพอประมาณ ร่วมบุญทำบุญทอดผ้าป่า ตามกำลังศรัทธา

พุทธคยา

วันที่ 1 กรุงเทพ - พุทธคยา

12.30 น. ออกเดินทางสู่ เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดิย โดยเที่ยวบินที่ TG327

10.10 น. ถึงสนามบินคยา ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง พาท่านเดินทางสู่ที่พักในวัดไทย

11.30 น. รับประทานอาหารที่วัดไทย

13.00 น. พาท่านเข้าไปในบริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์เดินทางไปกันที่ “พระมหาเจดีย์พุทธคยา และ ต้นพระศรีมหาโพธิ์” สถานที่ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า หนึ่งในสังเวชนียสถาน แห่งสำคัญ เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ด้วยระลึกว่า พระตถาคต ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในที่นี้  กราบสักการะพระพุทธเมตตา บูชาสถานที่ตรัสรู้ บริเวณใต้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สวดมนต์ทำวัตรเย็น  

เย็น รับประทานอาหาร พักผ่อนตามอัธยาศัย ณ วัดไทย

ถวายเป็นพุทธบูชาพุทธคยา

วันที่ 2 พุทธคยา - ราชคฤห์ - นาลันทา - พุทธคยา

05.00 น. เดินทางสู่ เมืองนาลันทา บ้านเกิดของอัครสาวกซ้าย-ขวา พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร *ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง

07.00 น. รับประทานอาหารเช้า   ที่วัดลัฏฐิวัน

08.30 น. ไปกราบสักการะ “หลวงพ่อองค์ดำ”  พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อายุนับพันปี เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สร้างจากหินดำ ทางการไม่สามารถเคลื่อนย้ายเพื่อนำมาเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ได้เพราะขนาดที่ใหญ่มาก และทุกครั้งที่มีความพยายามโยกย้ายท่านออกไป ก็จะเกิดเหตุอาเพศเป็นประจำ ชาวบ้านท้องถิ่นมีความเชื่อว่าหลวงพ่อ สามารถดลบันดาลให้หายเจ็บหายป่วย คณะผู้แสวงบุญที่เลื่อมใสศรัทธา พากันไปกราบไหว้ขอความเป็นสิริมงคล

หลวงพ่อองค์ดำ นาลันทา


09.30 น. ไปกันที่ “มหาวิทยาลัยนาลันทา”  
นาลันทา เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของพุทธศาสนา เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่เคยรุ่งเรืองที่สุดในโลก ปัจจุบันเหลือแต่ซากปรักหักพัง สะท้อนความยิ่งใหญ่ในอดีต ในอดีตมหาวิทยาลัยแห่งนี้ประกอบด้วย ห้องเรียน ห้องสมุด หอพักนักศึกษา หอสวดมนต์ โรงครัว ยุ้งฉาง บ่อน้ำ มีพระสงฆ์มาศึกษาจำนวนมาก มีครูอาจารย์สอนถึง 1,400 ท่าน สักการะ “สารีบุตรสถูป”  เป็นสถูปที่สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระสารีบุตร อัครสาวก บริเวณที่ประชุมเพลิง สร้างสมัยแรกโดยโยมมารดาท่านสารีบุตร คือ นางสารีพราหมณี ต่อมาพระเจ้าอโศกได้สร้างเสริมจากที่เดิม และกลายเป็น สถานที่สักการะของมหาชน ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยนาลันทา

มหาวิทยาลัยนาลันทา


11.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน   

12.30 น. ออกเดินทางไปยัง เมืองราชคฤห์ *ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที 
       
เมืองราชคฤห์ (Rajgir) เมืองที่เคยยิ่งใหญ่ เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ ในสมัยพุทธกาล พระพุทธศาสนาได้ประดิษฐาน ตั้งมั่นที่เมืองนี้มาโดยตลอด เพราะการอุปถัมภ์บำรุงของพระราชาผู้ทรงธรรมของเมือง เมืองราชคฤห์จึงเต็มไปด้วยโบราณสถานต่างๆ มากมาย

13.00 น. ไปกันที่ สวนเวฬุวัน  สักการะบูชาสถานที่อันเคยเป็นที่ตั้งของ วัดเวฬุวันวิหาร วัดที่พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงถวายสวนเวฬุวัน ให้เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงประทับจำพรรษา ณ ที่แห่งนี้รวมแล้ว 6 พรรษา เป็นที่ทรงตั้งอัครสาวกคือ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร และยังเป็นสถานที่ที่พระอรหันต์ 1,250 รูป มาชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมาย ในวัน จาตุรงคสันนิบาต มาฆบูชา และพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ แก่ภิกษุเหล่านั้น

วัดเวฬุวัน วัดแห่งแรกในพุทธศาสนา

14.30 น. ไปเดินขึ้นเขาคิชฌกูฏกัน
     เขาคิชฌกูฏ  คือหนึ่งในเบญจคีรีหรือภูเขา 5 ลูก ได้แก่ เวภาระ เวปุละ คิชฌกูฏ อิศิคิลิ และปัณฑวะ ที่ชื่อเขาคิชฌกูฏนั้น เพราะมีลักษณะเหมือนนกแร้ง หรือ เป็นที่เกาะอาศัยของฝูงแร้งที่มาคอยกินซากศพโจรที่ถูกประหารและทิ้งลงเหว ในบริเวณโดยรอบเขาคิชฌกูฏนั้น นับว่าเป็นที่สัปปายะของเหล่าพระอริยสาวก เป็นที่จำพรรษาของพระอรหันต์หลายองค์ เช่น พระสารีบุตร พระอานนท์ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ พระปุณณมันตานีบุตร และพระอุบาลี เป็นต้น   

ระยะเดินขึ้นเขาคิชฌกูฎ ประมาณ 1 กิโลเมตร
ทางเดินขึ้นเขา ทางชัน แต่ปูลาดเดินง่าย (ตามภาพ)
มีขั้นบันไดเดินสะดวก เหนื่อยมากช่วงเริ่มเดิน เดินไปได้สักพัก ก็จะคลายเหนื่อย ค่อยๆรู้สึกดีขึ้น เดินกันไปช้าๆ เดินได้สบายๆ

เขาคิชกูฏ ราชคฤห์ อินเดีย

แนะนำ สำหรับผู้ใหญ่ที่เดินไม่ค่อยไหว ขาไม่ดี หัวเข่าเจ็บ ฯลฯ ที่นี่จะมีเสลี่ยงไว้ให้บริการ ถ้าต้องการใช้บริการ กรุณาแจ้งทีมงานล่วงหน้า ราคา ขึ้น-ลง ต่อท่านประมาณ 2,200 รูปี รวมทิปให้คนแบก 

ระหว่างเดินขึ้นสู่ยอดเขาคิชฌกูฎ ผ่าน 2 ถ้ำหลัก คือ

1) ถ้ำพระโมคคัลลานะ 
เป็นที่จำพรรษาของพระอัครสาวกผู้เลิศทางอิทธิฤทธิ์ คือ พระโมคคัลลานะ และที่แห่งนี้เองเป็นที่แก้ข้อสงสัยเรื่องเปรตมีจริงหรือไม่ มองขึ้นจากทางเดินจุดที่เป็นถ้ำของพระโมคคัลลานะนั้น จะเห็นก้อนหินตั้งเรียงกันสามก้อน มีช่องระหว่างเขาที่พอเดินได้ เมื่อก่อนยังไม่ก่อหินกั้นไว้ จะเป็นทางขึ้นลงเพียงทางเดียวเท่านั้น ณ จุดนี้เองเชื่อกันว่าเป็นที่พระเทวทัตพยายามกลิ้งก้อนหินลงมาเพื่อปลงพระชนม์พระพุทธองค์
 
2) ถ้ำสุกรขาตา
มีลักษณะเหมือนคางหมู ในสมัยพุทธกาล ถ้ำสุกรขาตาเป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรด ทีฆนขปริพาชก ผู้เป็นหลานของพระสารีบุตร ในขณะที่พระสารีบุตรกำลังนั่งถวายงานพัดอยู่นั้น ท่านก็ได้ฟังธรรมและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในขณะนั้นเอง เมื่อวันมาฆปุณณมี  เพ็ญเดือน 3 หลังจากอุปสมบทแล้ว 15 วัน ส่วนทีฆนขปริพาชกได้บรรลุโสดาปัตติผลประกาศตนเป็นอุบาสกผู้นับถือพระรัตนตรัย

ณ ยอดเขาคิชฌกูฏ มูลคันธกุฎี  คือที่ประทับส่วนพระองค์ของพระบรมศาสดา ในพรรษาที่ 3, 5 และ 7 และ พรรษาสุดท้าย ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน มูลคันธกุฎีแห่งเขาคิชฌกูฏนี้ บริเวณที่ประทับของเดิมเป็นกุฎีแคบๆ เหมาะที่จะนั่งมากกว่านอน วัดดูด้วยศอกได้กว้าง 3 ศอก กับ 1 คืบ ยาว 4 ศอกเท่านั้น เป็นที่ซึ่งชาวพุทธถือว่าสำคัญ พากันมากราบไหว้บูชาเพื่อระลึกถึงพระพุทธองค์ ที่เสด็จมาประทับ ณ ยอดเขาแห่งนี้อยู่เสมอ และได้แสดงธรรมหลายพระสูตร เช่น ธัมมิกสูตร มหาสาโรปมสูตร อาฏานาฏิยสูตร อปริหานิยธัมมสูตร เป็นต้น ผู้มาถึงสถานที่แห่งนี้ เหมือนว่าได้มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ดวงจิตมีแต่ความปีติเบิกบานอย่างน่าอัศจรรย์
     
16.30 น. เดินทางกลับ พุทธคยา *ใช้เวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมง
       
19.00 น. เข้าสู่ที่พัก  รับประทานอาหารค่ำ   แล้วพักผ่อนตามอัธยาศัย

วันที่ 3 พุทธคยา

06.00 น. ทำวัตรเช้า ที่พระอุโบสถ
07.00 น. รับประทานอาหารเช้า  
    
# สังเวชนียสถาน ลำดับที่ 1

09.00 น. นำพาทุกท่านสู่ “อภิสัมพุทธสถาน” มหาเจดีย์พุทธคยา และ ต้นพระศรีมหาโพธิ์  สถานที่ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า สวดมนต์และกราบสักการะพระพุทธเมตตา บูชาสถานที่ตรัสรู้ บริเวณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ และ กราบสักการะบูชา สัตตมหาสถาน ทั้ง 7 แห่ง ภายในบริเวณโพธิมณฑล  

พุทธคยา

11.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน   
14.00 น. นำพาทุกท่านไปเที่ยวชม และสักการะบูชา 3 สถานที่ สำคัญ อันเป็น สัตมหาสถาน สถานที่จริง คือ ต้นอชปาลนิโครธ สระมุจลินทร์ และ ต้นราชายตนะ

สัตตมหาสถาน คือ สถานที่ทรงยับยั้งอยู่เพื่อเสวยวิมุตติสุขหลังจากทรงตรัสรู้แล้ว 7 แห่ง แห่งละ 7 วัน รวม 49 วัน ต่อมาถือกันว่า เป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา นับเป็นพุทธเจดีย์ประการหนึ่งด้วย 

16.00 น.ไปดูบริเวณสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงอธิษฐานจิตลอยถาดทองคำ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา  หรือที่เรียกกันว่า “แม่น้ำแห่งการตรัสรู้” แล้วไปสักการะ สถูปเนินดิน สถานที่อันเคยเป็น บ้านนางสุชาดา  ผู้ถวายข้าวมธุปายาสก่อนวันตรัสรู้ รวมกันสวดมนต์และเดินประทักษิณ รอบพระสถูปเจดีย์ ถวายเป็นพุทธบูชา 

แม่น้ำเนรัญชรา คยา


19.00 น. เข้าสู่ที่พัก  รับประทานอาหารค่ำ   แล้วพักผ่อนตามอัธยาศัย

วันที่ 4 พุทธคยา  

06.00 น.  ตื่นนอน
07.00 น. รับประทานอาหารเช้า   

08.00 น.  นำพาทุกท่านสู่ “เขาดงคสิริ”  สถานที่บำเพ็ญทุกรกิริยาของพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะทรงตรัสรู้

เขาดงคสิริ

 *ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที  เดินขึ้นเขาอีกประมาณ 20 นาที

ณ ที่แห่งนี้ ทรงเริ่มบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยา ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมกันว่าจะเป็นหนทางที่ทำให้ตรัสรู้ โดยกดพระทนต์ด้วยพระทนต์, กดพระตาลุ(เพดานปาก) ด้วยพระชิวหา(ลิ้น), ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ, ทรงอดพระกระยาหาร จนพระวรกายเหี่ยวแห้ง พระฉวี(ผิวพรรณ)เศร้าหมอง มีพระอาการประชวรอ่อนเพลียอิดโรย จนหมดสติล้มลง เมื่อฟื้นคืนสติ ทรงเห็นว่าผู้ที่ทำความเพียรด้วยการทรมานร่างกาย ยิ่งกว่าเรานั้นไม่มี เราปฏิบัติอุกฤษฏ์ถึงขนาดนี้แล้ว ยังไม่สามารถจะบรรลุพระโพธิญาณได้ ชะรอยหนทางแห่งการตรัสรู้คงจะเป็นหนทางอื่น มิใช่ทางนี้เป็นแน่       ขณะนั้นพระอินทร์ทรงทราบความปริวิตกของพระมหาบุรุษ จึงนำพิณทิพย์สามสายมาดีดถวายให้พระโพธิสัตว์ได้สดับ เมื่อพระองค์ได้สดับเสียงพิณแล้วก็ทรงเปรียบเทียบการปฏิบัติกับพิณสามสายว่า “สายหนึ่งตึงนัก พอดีดไปหน่อยก็ขาด สายหนึ่งหย่อนนัก ดีดไม่มีเสียง ส่วนอีกสายหนึ่งไม่ตึงนักไม่หย่อนนักพอปานกลาง จะมีเสียงดังไพเราะ” พระโพธิสัตว์ทรงถือเอาเสียงพิณนั้นเป็นนิมิตหมาย พิจารณาเห็นแจ้งว่า “มัชฌิมาปฏิปทา คือ การปฏิบัติเป็นกลางๆ ไม่ตึงนักไม่หย่อนนัก คงจะเป็นหนทางแห่งการตรัสรู้แน่นอน”       จึงตัดสินพระทัยที่จะบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป และการบำเพ็ญเพียร ทางจิตนั้น บุคคลที่มีร่างกายไม่แข็งแรงทุพพลภาพเช่นเรานี้ไม่สามารถจะเจริญสมาธิได้ จึงได้เสวยพระกระยาหารบำรุงร่างกายให้มีกำลังก่อนแล้วจึงบำเพ็ญเพียร ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้นจึงทรงถือบาตรเที่ยวบิณฑบาตมาเสวยพระกระยาหารตามเดิม ฝ่ายปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในการปฏิบัติแบบทรมานร่างกาย ครั้นเห็นพระองค์ทรงหันมาบริโภคอาหาร จึงเข้าใจว่า พระองค์ทรงละความเพียรเสียแล้ว จึงพากันหลีกหนีทิ้งพระองค์ให้ประทับอยู่ตามลำพัง

11.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน   

14.00 น.  พาไปเที่ยว “วัดไดโจเคียว” วัดญี่ปุ่นหนึ่งเดียวในพุทธคยา

วัดญี่ปุ่น คยา อินเดีย

จากนั้น ให้เวลาอิสระ ช้อปปิ้ง เลือกซื้อของฝาก  ในเมืองพุทธคยา ตามอัธยาศัย

19.00 น.  กลับเข้าสู่ที่พัก รับประทานอาหารค่ำ   แล้วพักผ่อนตามอัธยาศัย

วันที่ 5 พุทธคยา - กรุงเทพ

05.00 น. รับประทานอาหารเช้า เตรียมเก็บกระเป๋าสัมภาระของท่าน

07.00 น. รับประทานอาหาร เตรียมกระเป๋าสัมภาระให้พร้อม

11.00 น. รับประทานอาหารก่อนเดินทางเข้าสนามบิน

11.30 น. เดินทางเข้าสนามบินพุทธคยา พาท่านเช็คอินกับสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG328

15.00 น. ออกเดินทางสู่สนามบินสุวรรณภูมิ

18.45 น. ถึงสนามบินสุวรรณภูมิโดยสวัสดิภาพ

thepudomdham brand logo
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
© 2024 เทพอุดมธรรม ทราเวล
TAT LICENSE