ในประเทศศรีลังกานั้นมีเส้นทางแสวงบุญที่เรียกกันว่า ‘โสฬสมหาสถาน’ ซึ่งหมายถึง สถานที่ 16 แห่งที่เชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมา โดยสถานที่ทั้ง 16 แห่งนี้กระจายอยู่บนเกาะศรีลังกา เชื่อกันว่าการไปนมัสการยังสถานที่เหล่านี้ก็ประหนึ่งว่าเราได้นมัสการสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นเส้นทางแสวงบุญของชาวลังกาที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งในบรรดาสถานที่ทั้ง 16 แห่งนี้มีสถานที่ที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เป็นสถานที่ที่ชาวพุทธในศรีลังกาทุกเพศทุกวัยจะต้องไปนมัสการให้ได้สักครั้งในชีวิต นั่นก็คือ รอยพระพุทธบาทบนเขาสุมณกูฎ
สุมณกูฎ (อ่านว่า สุ-มะ-นะ-กูด) ภูเขาที่มีความสูงเป็นอันดับ 5 ของประเทศศรีลังกา ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศ ตรงยอดเขามีรอยบนหินที่มีลักษณะคล้ายรอยเท้า ซึ่งชาวพุทธเชื่อว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าได้มาประทับตอนเสด็จเยือนเกาะลังกาครั้งที่ 3 (ตามคัมภีร์มหาวงศ์กล่าวว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปยังเกาะลังกาทั้งสิ้น 3 ครั้งด้วยกันครับ) รอยพระพุทธบาทนี้จึงถูกเรียกในภาษาสิงหลว่า ศรีปาทะ
อย่างไรก็ดี ตามความเชื่อในศาสนาอื่นก็มีการตีความรอยพระพุทธบาทนี้ในมุมมองที่แตกต่างกันไป ชาวฮินดูเชื่อว่านี่คือ ศิวบาท หรือรอยพระบาทของพระศิวะ ในขณะที่ชาวคริสต์และชาวมุสลิมเชื่อว่านี่คือรอยเท้าของอดัม มนุษย์คนแรกที่เหยียบลงบนโลกหลังถูกขับไล่จากสวนอีเดน ดังนั้น ที่นี่จึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า Adam’s Peak แต่บางตำราก็ว่าเป็นรอยเท้าของนักบุญโทมัส หนึ่งในอัครสาวกของพระเยซู
เกร็ดแถมท้าย
สุมณกูฎสามารถขึ้นได้ทั้งปี ถ้าไม่อยากเจอคนเยอะสามารถเลี่ยงช่วงวันเพ็ญ ช่วงกลางเมษายน และควรหลีกเลี่ยงการเดินขึ้นในช่วงหน้าฝนเพราะมีโอกาสเจอฝนในระหว่างการเดินขึ้น ทำให้พื้นลื่นได้ (ใครอยากชมบรรยากาศสุมณกูฎในหน้าฝน สามารถดูได้จากรายการ หนังพาไป ซีซั่น 4 : EP.19 ศรีปาทะ รอยพระบาทแห่งพระพุทธ ได้ครับ)
เทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทจะเริ่มขึ้นหลังวันเพ็ญเดือนธันวาคมไปจนถึงวันเพ็ญเดือนเมษายน ในช่วงเวลานี้จะมีพิธีการนมัสการรอยพระพุทธบาท ซึ่งเราสามารถร่วมนมัสการไปพร้อมกับชาวลังกาได้ ซึ่งส่วนตัวผมแนะนำให้มาในช่วงเวลานี้ครับ เพราะถ้ามานอกเวลานี้ คุณอาจเจอแต่นักท่องเที่ยวเท่านั้น บรรดาร้านรวงระหว่างทางจะไม่เปิด ทำให้ทางเดินค่อนข้างมืด แต่ถ้าใครจะมาในช่วงนี้ก็อย่าลืมเตรียมร่มและไฟฉายมาด้วยนะครับ
อีกเรื่องที่อยากแนะนำคือ ควรขึ้นในช่วงเช้ามืดเพราะจะขึ้นไปถึงยอดเขาตอนเช้าพอดี เราจะได้ชมพระอาทิตย์และเงาของสุมณกูฎได้ในช่วงเวลานี้ อีกทั้งอากาศระหว่างขึ้นและตอนขาลงก็ยังไม่ร้อนมาก แต่ถ้าขึ้นตอนเช้าก็อาจเจออากาศร้อนระหว่างการเดินขึ้นเขาได้ เริ่มขึ้นเขาตั้งแต่ตี 2 หรือจะขึ้นช่วงตี 3 เหมือนกับพวกผมก็ได้ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้น ลองคำนวณดีๆ ครับผม
การเดินทางมายังสุมณกูฎสามารถเดินทางได้จากหลายเมือง ไม่ว่าจะเป็นโคลัมโบ แคนดี้ เอลล่า และมีพาหนะให้เลือกหลายแบบ ทั้งรถทัวร์ รถไฟ หรือเหมารถมา ส่วนตัวแนะนำให้นั่งรถไฟโคลัมโบ–ฮัตตัน (Colombo–Hatton) หรือเอลล่า–ฮัตตัน (Ella–Hatton) เพราะเราจะได้ชมทิวทัศน์ที่สวยงามของเส้นทางรถไฟที่ถือกันว่างดงามที่สุดสายหนึ่งของเกาะลังกา พอไปถึงสถานีฮัตตันแล้วก็เหมารถหรือนั่งรถเมล์ไปยังหมู่บ้านเดลเฮาส์อีกประมาณ 1 ชั่วโมง (ตั๋วรถไฟสามารถมาซื้อที่สถานีได้ครับ เราจะได้เป็นบัตรแข็ง และได้บรรยากาศเหมือนรถไฟไทยที่ต้องวิ่งมาแย่งที่นั่ง อาจจะต้องเก้าอี้ดนตรีกันนิดหนึ่ง แต่ถ้าอยากนั่งจริงๆ แนะนำให้จองตั๋วล่วงหน้า จะจองที่สถานีก่อนสักหลายวันหรือจองทางอินเทอร์เน็ตก็ได้ครับ)
หมู่บ้านเดลเฮาส์เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่แทบจะเรียกว่าใช้ในการขึ้นสุมณกูฎเพียงอย่างเดียวก็ว่าได้ ตัวเมืองมีที่พักและร้านอาหารหลายระดับให้เลือก ถ้ามาในช่วงเทศกาลแนะนำให้จองล่วงหน้าครับ ส่วนตัวอยากแนะนำ Singh Bro’s ที่ตัวเองไปพัก เพราะตั้งอยู่บริเวณใกล้กับทางขึ้นเขาพอดีและเจ้าของใจดีมาก
ถ้าคุณยังรู้สึกฮาร์ดคอร์ไม่พอ สามารถเลือกเส้นทางการขึ้นสุมณกูฎจากเมืองรัตนปุระได้นะครับ การขึ้นจากฝั่งนี้จะยากกว่าขึ้นจากเดลเฮาส์พอสมควร คุณจะได้สัมผัสการขึ้นสุมณกูฎแบบดั้งเดิม และพบกับสายโซ่โบราณที่ในสมัยก่อนเป็นตัวช่วยเพื่อขึ้นสุมณกูฎ ดังปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่งในประเทศไทย ที่พระจะเหนี่ยวสายโซ่นี้เพื่อขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเข