สิ่งปลูกสร้างภายในวัดที่เห็นในปัจจุบันไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างในยุคเริ่ม แรกของวัด เพราะวัดนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกช่วงประมาณปี พ.ศ. 300 โดยกษัตริย์ยัฎฐาลาติสสะ (King Yathalatissa) และได้เจริญรุ่งเรืองสูงสุดในรัชสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 6 (King Parakramabahu VI) แห่งราชอาณาจักรโกฏเฏ (Kingdom of Kotte) ซึ่งโปรดให้สร้างวัดแห่งนี้ให้เป็นวัดที่ยิ่งใหญ่ มีสิ่งปลูกสร้างมากมาย มีพระสงฆ์พำนักนับร้อย จนกลายเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาที่สำคัญ และได้ถูกบรรยายว่าวัดแห่งนี้งดงามราวสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2048 วัดได้ถูกผู้รุกรานชาวโปรตุเกสเผาทำลายลงจนสิ้นซาก
ต่อมากษัตริย์กีรติศรีราชสิงหะ (King Kirthi Sri Rajasinghe) ซึ่งปกครองราชอาณาจักรแคนดี้ (Kingdom of Kandy) ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2290 - 2325 ได้ทำข้อตกลงกับผู้ปกครองลังกาในยุคนั้น คือ ฮอลันดา ให้สามารถส่งพระสงฆ์เข้าไปบูรณะวัดได้ ดังนั้น เมื่อปี 2310 ได้โปรดให้พระมปิฏิกามะ พุทธรักขิตตะเถระ (Venerable Mapitigama Buddharakkhita Thera) พร้อมพระสงฆ์จำนวนหนึ่งเดินทางไปปฏิสังขรณ์วัด แต่เหตุการณ์ทางการเมืองที่วุ่นวายซึ่งส่งผลให้ลังกากลายเป็นอาณานิคมของ อังกฤษใด้ทำให้ภารกิจดังกล่าวต้องชะงักลง
ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2431 นางเฮเลนา วิเจวาร์เดนา (Mrs. Helena Wijewardena) เศรษฐีนีแห่งกรุงโคลัมโบได้สนใจและได้อุทิศทรัพย์สินในการบูรณะปฏิสังขรณ์ วัด ดังนั้น สิ่งปลูกสร้างที่พบเห็นในบริเวณวัดในปัจจุบันจึงเป็นผลจากแรงศรัทธาของเธอ และครอบครัวทั้งสิ้น จุดเด่นที่สำคัญของวัดคือพระวิหาร ซึ่งประกอบด้วยพระนอน ห้องประดิษฐานพระสารีริกธาตุ และภาพจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องชาดก พุทธประวัติ และเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาในศรีลังกา ซึ่งภาพเหล่านั้นเป็นผลงานของนายโสริอัส เมนดิส (Solius Mendis) ศิลปินชื่อดังของศรีลังกาที่ได้อุทิศเวลากว่า 20 ปีในการรังสรรค์ภาพจิตรกรรมที่งดงามดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อด้วยว่า วัดเกลาณียะเป็นที่สถิตของเทพวิภิศณะ (Vibhishna) หรือพระยาพิเภก น้องชายของท้าวทศกัณฑ์ ซึ่งพระรามมอบหมายให้ปกครองกรุงลงกาสืบแทน และเชื่อกันว่าเทพวิภิศณะนั้นศักดิ์สิทธินัก หากบนบานขอบุตรธิดากับท่าน ก็มักจะสำเร็จตามความปรารถนาทุกราย ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ขอเชิญชวนให้ใด้มาพิสูจน์กัน
ปัจจุบันวัดเกลาณียะราชมหาวิหารเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาว ศรีลังกาที่สำคัญแห่งหนึ่ง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีโอกาสได้ เดินทางมาเยือนศรีลังกาไม่ควรพลาด